วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2553

Fauchon ราชาอาหารของฝรั่งเศล (1)

จากคอลัมน์ Modern Life Style : http://www.thaistudents.nl/node/26

เปิดตู้เย็นก็เจอแต่ชีสของรูมเมท บนตู้ก็มีแต่มาม่า บนโต๊ะก็มีแต่ขนมไร้ซึ่งประโยชน์ ซึ่งเห็นแล้วก็อาจจะเป็นโรคเบื่ออาหารได้ ยิ่งเปิดดูหน้าเว็ปของร้าน Fauchon ของฝรั่งเศล ที่อ่านว่า โฟชง ก็ยิ่งหิวเข้าไปใหญ่

ผมเป็นคนที่ชอบกินขนมหวานมาก โดยเฉพาะเวลาที่ต้องทำงานดึกๆ แต่ตั้งแต่มาเรียนอยู่ที่ฮอลแลนด์แล้ว ประเทศนี้ไม่ได้มีขนมอร่อยๆเหมือนประเทศยุโรปอื่นๆ และผิดหวังกับอาหารที่ไม่หลากหลายของที่นี้มากๆ ด้วยเหตุนั้นเอง ผมจึงชอบเปิดไปดูเว็ปไซต์ของโฟชง เพื่อไปกระตุ้นความอยากอาหารของตัวเองเสมอ จนกระทั่ง เมื่อต้นปีนี้ ผมมีโอกาสไปเที่ยวปารีส จึงอดไม่ได้ที่ต้องไปแวะ Fauchon ที่ถนน Medeleine ใจกลางกรุงปารีส


ความจริงแล้วโฟชง ก็ไม่ได้มีรสชาติอาหารที่ดีเลิศอะไรมากมาย มีแค่อาหารบางอย่างเท่านั้นที่มีชื่อเสียงมากๆ เช่น ชา ตับห่าน หรือ คารเวียร์ ส่วนมากาฮงนั้นก็เคยมีชื่อเสียงมาก เพราะสมัยก่อนคนที่ทำมากาฮงให้กับ Fauchon คือ Pierre Herme เจ้าพ่อมากาฮง ซึ่งปัจจุบันก็ออกมาเปิดร้านของตัวเองในปารีสและที๋โตเกียว ไอติมของ Fauchon เองก็มีชื่อเสียง แต่โชคร้ายคือ ผมไม่เคยกินไอติมโฟชงในปารีส เคยกินเฉพาะตอนที่เค้าเอามาแจกให้บนเครื่องบินของ Singapore Airline แต่สิ่งที่ทำให้ผมหลงไหลใน Fauchon ไม่ใช่รสชาติของอาหาร แต่เป็นวิธีที่เค้าสามารถยกระดับ สินค้าเกษตรธรรมดาเป็นแบรนด์ระดับ A+ ได้

เมื่อย้อนไปเมื่อหกถึงเจ็ดปีก่อน ผมเคยได้ยินรัฐบาลคุณทักษิณบอกว่า เค้าอยากจะยกระดับสินค้าเกษตรไทยให้ไปสู่สากล แล้วก็มีโครงการครัวไทยสู่ครัวโลก ในสายตาของคนธรรมดาอย่างผมก็นึกภาพไม่ออกจริงๆ ว่าจะทำแบบไหน หากจะนึกถึงสินค้าเกษตรที่ไปก้าวสู่สากล ก็คงมีเพียงสินค้าของ CP หรือสินค้าของเครือสหพัฒน์ ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ก็รู้จักกันดี

จนกระทั่งเมื่อครั้งที่ขึ้นเครื่องบินของ Singapore Airline จากสิงคโปร์ไปกัวลาลัมเปอร์เมื่อปี 2007 แอร์โฮสเตสเอาไอติมของโฟชงมาแจก เป็นไอติมที่รสชาติดีมาก จึงไปหาข้อมูลมาเพิ่มว่า อะไรคือ Fauchon

จึงพบว่า Fauchon ไม่ได้ทำแค่ไอติมหรือขนมหวาน แต่Fauchon คือ Louis Vuitton ของสินค้าด้านอาหาร หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Top Food

จากร้านขายของข้างถนนในปารีส พ่อค้าไวน์ที่ชื่อ โอกุส โฟชง ได้ก่อตั้งร้านขายของ ของตนเองโดยใช้นามสกุลตัวเองเป็นชื่อร้าน ในปี 1886

คุณโฟชงนั้น ก็ไปเสาะแสวงหา สินค้าอาหารใหม่ๆแปลกๆ มาขายที่ร้านของตัวเอง และที่สำคัญต้องมีคุณภาพ จนร้านของโฟชงนั้น มีชื่อเสียง และได้รับการขนานนามเป็นร้านขายสินค้าทางด้านอาหารชั้นนำของปารีส

จากการที่ร้านของโฟชงนั้น เป็นที่น่าเชื่อถือ ทำให้โฟชงเริ่มผลิตสินค้าเป็นของตัวเอง โดยสินค้าที่มีชื่อเสียงของโฟชง คือ Foie Gras หรือตับห่าน ไข่ปลาคาร์เวียร์อันแสนจะแพง และชา

เนื่องจาก Fauchon เอง เป็นธุรกิจครอบครัว เหมือนที่คนจีนว่าไว้ ธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่ รุ่นลูกมักจะทำสู้รุ่นพ่อไม่ได้ และต้องปิดกิจการในรุ่นหลาน แล้วในฝรั่งเศลเองสิ่งที่คนจีนพูดก็ใช้ได้กับ Fauchon

ครอบครัวโฟชงจำใจต้องขาย Fauchon ให้กับบริษัทอื่นในที่สุด แล้วก็ถูกเปลี่ยนมือมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันมาตกอยู่ในมือของ Laurent Adamowicz ผู้ซึ่งตั้งใจจะพัฒนาร้านค้าบนถนน Medeleine โดยใช้ Fauchon เป็นศูนย์กลาง

จุดเด่นของสินค้า โฟชง คือ

1.ให้ความสำคัญของต้นกำเนิดของสินค้า เช่น เห็ด Truffle อัดกระป๋อง ก็จะไม่ได้ระบุเพียงว่า เห็ดนี้มาจากไหน แต่ก็จะบอกว่ามาได้อย่างไร แล้วพื้นที่ที่สินค้ากำเนิดนั้นเป็นอย่างไร สำหรับผมแล้ว ผมเชื่อว่า นี้เป็นการสร้างรสชาติของสินค้าให้อร่อยได้ตั้งแต่ยังไม่กินเลยด้วยซ้ำ

2.Packaging ของโฟชง จะถูกดีไซน์เป็นอย่างดี ผมไม่รู้หรอกว่าข้างในรสชาติเป็นยังไง แต่เห็นPackaging แล้ว มันอยากซื้อทุกทีไป

หากถามเรื่องรสชาตินั้น เนื่องจากโฟชง มีสินค้าเยอะมาก บางอย่างก็อร่อย และบางอย่างก็เฉยๆ(หรือไม่อร่อย) โฟชงก็แก้ไขโดยการตั้งทีมทำวิจัยด้านรสชาติอาหาร และเชิญพ่อครัวเก่งๆ มาคิดสูตรอาหารให้กับโฟชง ทำให้สินค้าของโฟชงนั้นดูมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา

สิ่งที่โฟชง นำมาใช้มากที่สุด ในการสร้างแบรนด์ให้กับตัวเองคือ การล๊อบบี้ คนดังมาทานข้าว เช่น แจ็กเกอลีน แคนเนดี้ หรือ มาดาม ชาลเดอโกล

แต่สิ่งที่ผมสนใจของโฟชงคือ โฟชงพยายามนำแบรนด์ความเป็นผู้นำทางด้านอาหารของประเทศฝรั่งเศล มาใช้สร้างความแข็งแกร่งให้กับโฟชงตลอดเวลา โฟชงมักจะโยงสินค้าตัวเองเชื่อมกับความเป็นฝรั่งเศล เช่น ตับห่าน เลี้ยงบนดินที่อุมดมสมบูรณ์จากทางตอนใต้ของฝรั่งเศล ไวน์ชาลโตแถวๆบอร์กโด แม้ว่าคาร์เวียร์จะมาจากทะเลสาปดำหรืออิหร่านก็ตาม โฟชงก็จะบอกว่า ถูกนำมาคัดกรองและหมักแบบฝรั่งเศลในฝรั่งเศสก่อนถูกนำมาวางขายในร้าน ขนาดข้าวขาวธรรมดา ที่มาจากจีน โฟชงก็ต้องนำเอามาผสมกับเห็ด Truffle ของฝรั่งเศสก่อนออกขาย


ไทยเราก็มีชื่อเสียง ทางด้านอาหารเช่นกัน แต่เรากลับไม่มีแบรนด์ผลิตภัณฑ์อาหารระดับ A+ เหมือนกับที่ฝรั่งเศล ที่มี Fauchon หรือ Hediard และ เสปนมี Farga

อาจารย์สมคิด จาตุรศรีพิทักษ์ เคยเล่าให้ฟังว่า ประเทศไทย คนทำงานแทบตาย แต่รายได้นิดเดียว ฝรั่ง เกาหลี หรือสิงค์โปร์ ไม่ต้องทำไรมาก เอาแต่นั่งคิด วางแผน แล้วมาจ้างคนไทย ได้เงินมากกว่าหลายเท่า

การสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ทางด้านอาหาร ไม่ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหรือเอกชน น่าจะเป็นทางออกหนึ่งให้กับเกษตกรไทยได้

ทำงานเหนื่อยๆ ค่าแรงจะได้คุ้มหน่อย!

ฉบับหน้าจะมาเขียนเรื่อง Fauchon ต่อครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น